ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

หลักเกณฑ์การประเมินอาคารเขียวของญี่ปุ่น (CASBEE)

          หลักเกณฑ์การประเมินอาคารเขียวของญี่ปุ่น (CASBEE) Comprehensive Assessment System for Building Environmental Efficiency



     "อาคารสีเขียว" คืออะไร
   อาคารสีเขียว คือ การดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของอาคาร ได้แก่ พลังงาน น้ำ และวัสดุ พร้อมด้วยการลดผลกระทบต่อผู้ใช้ทั้งทางด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม โดยวิธีการคัดเลือกที่ตั้งอาคาร การออกแบบ การก่อสร้าง การใช้งาน การบำรุงรักษา และการรื้อถอนที่ดีกว่า ตลอดอายุการใช้งานของอาคาร

   ในประเทศที่ได้พัฒนาเรื่องอาคารสีเขียวไปมากแล้ว จะมีการจัดตั้งสภาอาคารสีเขียว (Green Building Council) ซึ่งจะเป็นตัวแทนของประเทศในการออกหลักเกณฑ์ และให้การรับรองอาคารสีเขียวภายในประเทศของตน ในปัจจุบันสภาอาคารสีเขียวของแต่ละประเทศได้รวมตัวกันจัดตั้งสภาอาคารสีเขียวโลก (World Green Building Council) ขึ้น ซึ่งแต่ละประเทศจะมีระบบการประเมินอาคารสีเขียวที่แตกต่างกัน 


ตัวอย่างอาคารสีเขียว

ตัวอย่างอาคารสีเขียว



     ระบบประเมินทางสิ่งแวดล้อมของอาคาร
          ในประเทศต่างๆ ที่มีระบบประเมินทางสิ่งแวดล้อมของอาคาร จะมีชื่อเรียกที่ต่างกันออกไป พร้อมกับมีแนวคิดและหลักการประเมินแตกต่างกันออกไปด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเหมาะสมตามแต่ละประเทศ ได้แก่
- LEED (The Leadership in Energy and Environment Design) ของสหรัฐอเมริกา
- BREEAM (The British Research Establishment Environment Assessment Method)ของอังกฤษ
- HK-BEAM (The Hong Kong Building Environmental Assessment Method) ของฮ่องกง
- NABERS (The National Australian Built Environment Rating System) ของออสเตรเลีย
- CASBEE (The Comprehensive Assessment System for Building Environmental Efficiency) ของญี่ปุ่น


ตารางตัวอย่างการเปรียบเทียบหลักการประเมินของแต่ละประเทศ

     ระบบ CASBEE หรือ Comprehensive Assessment System for Building Environmental Efficiency มีหลักการประเมิณโดยแบ่งการประเมิณออกเป็น 2 ภาคคือ ภาคคุณภาพ (Q-Quality) และ ภาคภาระ (L-Environmental Loading) แล้วคำนวณค่าดัชนีมาตรฐานอาคาร โดยนำค่า Q หารด้วย L

     ดังนั้นอาคารที่มีคุณภาพสูงสอดคล้องกับมาตรฐานคุณภาพอาคารที่กำหนด มีการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์พลังงานปลอดภัย คงทนมีคุณภาพ อากาศภายในอาคารที่ดีมีประสิทธิภาพในการใช้งานจะคำนวณได้ค่า Q สูง

     อาคารที่สร้างแล้วไม่ก่อให้เกิดมลภาวะในการก่อสร้าง มีการจัดการขยะของเสีย มีการนำเศษวัสดุกลับมาใช้ได้ มีการออกแบบที่เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ กลมกลืนกับวัฒนธรรมท้องถิ่น เอื้อประโยชน์กับชุมชน ก็จะคำนวณได้ค่า L ต่ำ

     หากค่า Q สูง และค่า L ต่ำ ก็จะได้ค่าดัชนีที่สูง เมื่อนำไปกำหนดลงใน chart มาตรฐาน ก็จะสามารถระบุระดับมาตรฐานอาคารได้ว่าเป็น A B C หรือ S ซึ่ง S คือ sustainable building นับว่าเป็นระดับมาตรฐานสูงสุดซึ่งประเทศจีนได้นำวิธีการประเมินและกำหนดมาตรฐานนี้ในการก่อสร้างโครงการ Olympic 2008 เพื่อตอบสนองกับนโยบาย Green Olympic 2008

     ในประเทศญี่ปุ่นเอง ได้มีการนำมาตรการดังกล่าวไปใช้ โดยรัฐมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุน โดยการจัด
ให้มีโรงงานจัดการเศษวัสดุเพื่อนำกลับมาใช้ เช่น โรงงานผลิต particle board อิฐ และวัสดุอาคารจากเศษวัสดุการนำเศษคอนกรีตกลับไปทำซีเมนต์ ส่วนเศษเหล็ก พลาสติก นำกลับไปหลอมใหม่ มีการพัฒนาระบบการก่อสร้างแบบสำเร็จรูปที่มีเศษวัสดุน้อยวิธีการแบ่งภาคคุณภาพ Q และภาคภาระ L ใช้




     วิธีการกำหนดกรอบสมมติที่เรียกว่า Hypothetical boundary ในการประเมิน มีการกำหนดหัวข้อการประเมินดังนี้คือ

   Q 1 – สภาพแวดล้อมภายในอาคาร(Indoor Environment)

   Q 2 – คุณภาพการให้บริการ(Quality of Services)

   Q 3 – สภาพแวดล้อมรอบอาคาร(Outdoor Environment on Site)

   L 1 – พลังงาน(Energy)

   L 2 – ทรัพยากรและวัสดุ(Resources and Materials)

   L 3 – สภาพแวดล้อมภายนอกโครงการ(Off-Site Environment)



    ผลของการประเมินสามารถนำมาแสดงในแผนภูมิเรดาร์ (radar chart) ซึ่งเป็นวิธีการแสดงที่ทำให้เห็น
ข้อบกพร่องในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งได้ทันที โดยหัวข้อที่บกพร่อง แผนภูมิในส่วนนั้นจะแหว่งไป อาคารที่ประเมินแล้ว
ค่อนข้างสมบูรณ์ในทุกด้าน

     ระบบการประเมิน
   การประเมินมาตรฐานอาคารดังที่ได้กล่าวแล้ว มีรายละเอียดของหัวข้อการประเมินดังต่อไปนี้

1 ภาคคุณภาพ Q (Building Environmental Quality and Performance)

   1.1 Q –1 สภาพแวดล้อมภายในอาคาร (Indoor Environment) เป็นส่วนที่พิจารณาถึงคุณภาพภายในอาคาร ได้แก่

   การควบคุมเสียงดัง (Noise and Acoustic) เป็นการพิจารณาการควบคุมระดับเสียงภายในอาคารให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน และการสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดี ได้แก่

   - ระดับเสียง (Noise) เป็นการควบคุมระดับเสียงสำหรับพื้นที่ต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน
   - การป้องกันเสียง (Sound Insulation) เป็นการควบคุมระดับการป้องกันเสียงระหว่างพื้นที่ภายในอาคาร
   - การเก็บเสียง (Sound Absorption) เป็นการกำหนดให้มีการเก็บเสียงภายในพื้นที่ที่เหมาะสม ภาวะอากาศน่าสบาย (Thermal Comfort) เป็นการพิจารณาการควบคุมระดับอุณหภูมิ ความชื้นภายในอาคารให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน และการสร้างสภาวะอากาศที่น่าสบาย
   - การควบคุมอุณหภูมิ (Room Temperature Control) เป็นการพิจารณาการควบคุมระดับอุณหภูมิภายในอาคารให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน
   - การควบคุมความชื้น (Moisture Control) เป็นการพิจารณาการควบคุมระดับความชื้นภายในอาคารให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน
   - ชนิดของระบบปรับอากาศ (Type of Airconditioning System) เป็นการเลือกใช้ระบบปรับอากาศที่สามารถควบคุมสภาวะอากาศได้ดี



รูปแสดงผลการประเมินด้วยแผนภูมิแสดงค่า

รูปแสดงผลการประเมินด้วยแผนภูมิเรดาร์ 

     การให้แสงสว่าง (Lighting and Illumination) เป็นการพิจารณาการควบคุมระดับแสงสว่างภายในอาคารให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน และการสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดี
   - การใช้แสงธรรมชาติ (Daylighting) เป็นการนำแสงธรรมชาติมาใช้เพื่อให้เกิดคุณภาพภายในอาคารที่ดี ทำให้ผู้ใช้อาคารมีปฏิสัมพันธ์กับแสงภายนอกและมีการใช้แสงธรรมชาติเพื่อประโยชน์ทางด้านสุขอนามัย
   - การป้องกันแสงจ้า (Anti-Glare Measures) เป็นการใช้แสงสว่างที่นุ่มนวล ป้องกันการรบกวนจากความจ้าของแสง
   - ระดับความสว่าง (Illumination Levels) เป็นการจัดให้ระดับของแสงสว่างเหมาะสมและกลมกลืนและป้องกันการที่แสงสว่างขัดกัน (light contrast)
   - การควบคุมระดับแสงสว่าง (Lighting Controllability) มีระบบการควบคุมแสงสว่างที่สะดวกกับการใช้งานและสอดคล้องกับการอนุรักษ์พลังงาน

     คุณภาพอากาศ (Air Quality) เป็นการพิจารณาการควบคุมระดับคุณภาพอากาศภายในอาคารให้อยู่ในระดับมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมการที่มีสุขอนามัยที่ดีสำหรับผู้ใช้อาคาร
   - การควบคุมแหล่งอากาศ (Sources Control) เป็นการควบคุมแหล่งของอากาศเสีย ตำแหน่งการระบายอากาศเสีย และการนำอากาศบริสุทธิ์เข้าสู่อาคาร
   - ปริมาณการระบายอากาศ (Ventilation) เป็นการควบคุมปริมาณการระบายอากาศและอากาศบริสุทธิ์
   - แผนการจัดการ (Operation Plan) เป็นการจัดการเพื่อควบคุมคุณภาพอากาศภายในอาคาร



     

     1.2 Q - 2 คุณภาพการบริการ (Quality of Service) เป็นส่วนของคุณภาพการให้บริการที่ดี และสร้างความพึงพอใจกับผู้ใช้อาคาร

     ความสามารถในการบริการ (Service Ability)
   - การใช้งาน (Functional and Workability) สามารถใช้อาคารได้โดยมีประโยชน์ใช้สอยตามต้องการ
   - ความสวยงาม (Mentality-Coziness) เป็นอาคารที่มีรูปแบบที่สวยงาม และมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม

     ความคงทน (Durability) เป็นการพิจารณาการออกแบบและก่อสร้างอาคารที่มีความคงทน มีอายุการใช้งานที่เหมาะสม คุ้มค่า และไม่เป็นภาระกับการดูแลรักษาอาคาร
   - การป้องกันแผ่นดินไหว (Earthquake Resistance) สามารถป้องกันความเสียหายจากการเกิดแผ่นดินไหว
   - การดูแลรักษา การปรับปรุง อายุการใช้งาน (DailyMaintenance-Updating-Frequency) ต้องการดูแลรักษาน้อย มีอายุการใช้งานยาวนาน

     ความยืดหยุ่นและการปรับการใช้ (Flexibility and Adaptability) เป็นการพิจารณาการออกแบบและก่อสร้างอาคารที่มีความยืดหยุ่นกับการใช้งาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้งาน
   - การสำรองพื้นที่ (Space Margin) เป็นการออกแบบและก่อสร้างอาคารที่มีพื้นที่สำรองสำหรับการขยายตัวในอนาคต
   - การสำรองน้ำหนัก (Floor Load Margin) เป็นการออกแบบและก่อสร้างอาคารที่มีการสำรองน้ำหนักสำหรับการเปลี่ยนแปลงการใช้
   - การเปลี่ยนแปลงการใช้ (Adaptability of Facilities) เป็นการออกแบบและก่อสร้างอาคารที่มีความยืดหยุ่นกับการใช้งาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้งาน


     1.3 Q – 3 สภาพแวดล้อมโดยรอบอาคาร (Outdoor Environment on Site) เป็นส่วนของคุณภาพสภาวะแวดล้อมภายในพื้นที่โครงการ เพื่อมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้อาคาร โดยมีหัวข้อพิจารณา ดังต่อไปนี้

   การดูแลรักษาและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Maintenance and Creation of Ecosystem) เป็นการออกแบบและก่อสร้างอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ง่ายต่อการดูแลรักษาและการอยู่อาศัย

   ภูมิสถาปัตยกรรม (Townscape and Landscape) มีการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมที่สวยงามและสัมพันธ์กับสภาพภูมิสถาปัตยกรรมของเมือง

   ลักษณะท้องถิ่นและวัฒนธรรม (Local Characteristics and Culture)เป็นการพิจารณาการออกแบบและก่อสร้างอาคารที่สอดคล้องกับลักษณะและวัฒนธรรมท้องถิ่น




2. ภาคภาระ L (Environmental Loading)
     เป็นส่วนของการประเมินผลกระทบของการก่อสร้างอาคารกับสภาพแวดล้อมภายนอกโครงการ โดยการมองภาพว่า การก่อสร้างอาคารเป็นภาระกับสภาพแวดล้อมชุมชน และเมืองอย่างไร

     2.1 L –1 การใช้พลังงาน (Energy)
   การใช้พลังงานเป็นหัวข้อสำคัญเป็นอันดับแรก เนื่องจากการใช้พลังงานสร้างภาระกับระบบสาธารณูปโภคต่อชุมชนต่อเมือง ต่อประเทศ และต่อสังคมโลกโดยรวม การใช้พลังงานเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สร้างผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางด้านภาวะเรือนกระจกที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติและโรคร้ายต่าง ๆ รวมทั้งสร้างปัญหาจากความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าและเขื่อน ดังนั้น อาคารที่ดีในอนาคตจะต้องเป็นอาคารอนุรักษ์พลังงานหัวข้อการพิจารณาในเรื่องของการใช้พลังงานมี ดังนี้

    ภาระการทำความเย็น (Building Thermal Load) อาคารในปัจจุบันต้องใช้ระบบปรับอากาศ และหากมีการออกแบบที่ดี ระบบปรับอากาศไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ โดยมีปัจจัยในการพิจารณาดังต่อไปนี้คือ

   - ทิศอาคาร (Building Orientation) การกำหนดทิศของอาคารเพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดดหรือการกำหนดให้ด้านสกัดหรือด้านทึบของของอาคารบังแดด จะช่วยลดความร้อนเข้าสู่อาคารได้
   - ภาระความร้อนจากหน้าต่าง (Thermal Load of Windows) ปริมาณพื้นที่กระจกหน้าต่าง การเลือกใช้กระจก การบังเงาให้กับกระจก เป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันความร้อนจากแสงแดดเข้าสู่อาคาร
   - ฉนวนอาคาร (Insulation Level of Exterior Wall and Roof) อาคารที่ดีจะต้องมีการจัดทำฉนวนป้องกันความร้อนและความชื้นเป็นอย่างดี ทั้งที่ผนังอาคารและหลังคา

   การใช้พลังงานจากธรรมชาติ (Natural Energy Utilization) การประเมินมาตรฐาน ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศและธรรมชาติ และเห็นความสำคัญของการนำธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์ และเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการออกแบบและก่อสร้างอาคาร

   - การใช้พลังงานจากธรรมชาติทางตรง (Direct Utilization of Natural Energy) เช่น การนำแสงธรรมชาติมาใช้
การระบายอากาศตามธรรมชาติ
   - การใช้พลังงานจากธรรมชาติทางอ้อม (Indirect Utilization of Natural Energy) เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์
การใช้พลังงานจากลม

   ประสิทธิภาพของระบบวิศวกรรม (Efficiency in Building Systems) เป็นส่วนของการวางแผน การออกแบบ การก่อสร้าง โดยพิจารณาจากการออกแบบอาคารและระบบประกอบอาคารที่มีประสิทธิภาพ เช่น ระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ระบบปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพ ระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่มีประสิทธิภาพ การนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ ระบบควบคุมการใช้อาคารที่มีประสิทธิภาพ การใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ โดยดูจากประสิทธิภาพของระบบ อุปกรณ์และระบบวิศวกรรมเป็นสำคัญ ได้แก่ ระบบปรับอากาศ(HVAC system) ระบบระบายอากาศ (ventilation system) ระบบแสงสว่าง (lighting system) ระบบทำน้ำร้อน (water heating system) และระบบลิฟต์ (elevator system)

   ประสิทธิภาพการใช้ (Efficient Operation)
   - การตรวจสอบปริมาณการใช้พลังงาน (Monitoring) เป็นส่วนของการตรวจสอบและการวัดปริมาณการใช้พลังงาน โดยเกณฑ์ในการพิจารณาคือ ดัชนีค่าการใช้พลังงานต่อตารางเมตรต่อปีของอาคาร ในหน่วยของเมกะจูลต่อตารางเมตรต่อปี หรือกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อปี เป็นต้น
   - การบริหารจัดการ (Operational Management System) เป็นส่วนของการดำเนินการใช้อาคาร โดยพิจารณาจากโครงสร้างการบริหารและการจัดการอาคารที่ดีทำให้มีการใช้พลังงานมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า


     2.2 L–2 การใช้ทรัพยากรและวัสดุ (Resources and Materials)
เนื่องจากทรัพยากรและวัสดุก่อสร้างล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยพลังงานและมีต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ได้มา ดังนั้น การนำทรัพยากรและวัสดุไปใช้ จะต้องนำไปใช้อย่างรู้คุณค่าและมีมาตรการจัดการกับเศษวัสดุที่เหลือ

   น้ำ (Water Resource)
   - การประหยัดน้ำ (Water Saving) เป็นการพิจารณาการบริหารและการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า
   - การพิจารณานำน้ำฝนและน้ำทิ้งมาใช้ให้เป็นประโยชน์ (Utilization of Rain Water and Gray Water) เป็นการพิจารณานำน้ำฝนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ รวมทั้งความเป็นไปได้ในการบำบัดน้ำเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

   วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Materials) เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า และเป็นการลดภาระของขยะและของเสีย
   - การนำเศษวัสดุกลับมาใช้ (Use of Recycled Material) เป็นมาตรการเพื่อลดปริมาณขยะ และใช้วัสดุให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด
   - การใช้ไม้เป็นวัสดุธรรมชาติ (Use of Wood as Natural Materials) การใช้ไม้เป็นองค์ประกอบ นอกจากจะทำให้เกิดความรู้สึกของธรรมชาติแล้ว ไม้ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะตามมาโดยจะต้องมีการจัดหาไม้ที่ได้มาจากระบบการปลูกป่า และไม่ทำลายสภาพของป่า
   - การควบคุมการใช้วัสดุอันตราย (Use of Hazardous Materials) เป็นการพิจารณาเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วัสดุที่ปลอดภัย และการใช้วัสดุที่สามารถนำไปแปรรูปและนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ไม่มีส่วนประกอบของวัสดุแอสเบสตอส และหลีกเลี่ยงการใช้โฟม ไม่ใช้วัสดุที่มีกลิ่นและไอระเหยที่เป็นพิษ
   - การใช้โครงสร้างอาคารเดิม (Reuse of Existing Skeleton) การที่สามารถใช้โครงสร้างอาคารเดิมได้ ทำให้ลดขยะจากการทำลายอาคารและรื้อถอนอาคาร และเป็นการใช้ประโยชน์จากของที่มีอยู่
   - การควบคุมขยะ (Waste Disposal) เป็นมาตรการดูแลจัดการขยะและเศษวัสดุในการก่อสร้างอาคาร
   - การหลีกเลี่ยงการใช้สาร CFCs และ Halons (Avoidance of CFCs and Halons) สารเหล่านี้ คือสารที่ทำลายชั้นโอโซนและทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก จึงแนะนำให้เลิกและไม่ใช้สารเหล่านี้อีกต่อไป



     2.3 L –3 สภาพแวดล้อมภายนอกโครงการ (Off-Site Environment)เป็นส่วนที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยที่มีผลกระทบกับสภาวะแวดล้อมภายนอกพื้นที่โครงการที่จะมีผลกับชุมชนและเมือง

   มลภาวะทางอากาศ (Air Pollution)
   - มลภาวะทางอากาศ (Emissions of Air Pollutants) เป็นการควบคุมคุณภาพอากาศเสียที่ปล่อยออกจากโครงการ รวมทั้งผลกระทบของอากาศเสียกับภาวะเรือนกระจก
   - มลภาวะทางน้ำ (Emissions of Water Pollutants) เป็นการควบคุมคุณภาพน้ำเสียที่ปล่อยออกจากโครงการ
   - มลภาวะของดิน (Emissions of Soil Pollutants) เป็นการควบคุมคุณภาพของดินที่เกิดจากการแพร่กระจายของสารพิษ

   เสียงและกลิ่นรบกวน (Noise and Offensive Odors) เป็นการพิจารณาผลกระทบจากเสียงรบกวน และกลิ่นรบกวน
   - เสียงดังรบกวน (Noise Generation) เป็นการควบคุมเสียงรบกวน เช่น เสียงจากเครื่องจักร เครื่องปรับอากาศ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า
   - กลิ่นรบกวน (Offensive Odors) เป็นการควบคุมกลิ่นรบกวน เช่น กลิ่นเหม็นจากน้ำเสีย กลิ่นเหม็นจากขยะ กลิ่นเหม็นจากสารเคมี

   ลม (Wind Damage) เป็นการพิจารณาผลกระทบของโครงการกับการเปลี่ยนแปลงของทิศทางลมที่จะมีผลกระทบทางลบกับบริเวณโดยรอบ

   แสงสว่าง (Light Damage) เป็นการพิจารณาผลกระทบของโครงการกับการเปลี่ยนแปลงของแสงสว่างที่จะมีผลกระทบทางลบกับบริเวณโดยรอบ

   การสะสมความร้อน (Heat Island Effect) เป็นการพิจารณาผลกระทบของโครงการกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่เกิดจากการสะสมความร้อนที่จะมีผลกระทบทางลบกับบริเวณโดยรอบ


ตัวอย่างรายงานผลการประเมินมาตรฐานอาคาร

     
     ตัวอย่างรายงานผลการประเมินมาตรฐานอาคารดังต่อไปนี้ แสดงให้เห็นแผนภูมิเรดาร์ (radar chart) และสดมภ์ (column)แสดงคะแนนของการประเมินค่า Q-1, Q-2, Q-3, L-1, L-2, L-3 แล้วนำมาคำนวณหาค่า BEE หลังจากนั้น จึงนำไปกำหนดค่าลงในแผนภูมิแสดงค่า(rating chart) ทำให้สามารถระบุได้ว่าอาคารที่ถูกประเมินอยู่ในระดับ A B+ B- C หรือ (sustainable)


อ้างอิงจาก เวบไซต์ http://www.ibec.or.jp/CASBEE/
         เอกสารวิชาการ การประเมินระดับมาตรฐานอาคารยั่งยืน (Sustainable Building Assessment) เขียนโดย เกชา ธีระโกเมน