สถานีต่อไป "วัดสุชาดา"
วัดแห่งนี้เป็นโบราณสถานที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ไว้
วัดสุชาดาเป็นวิหารโถง เพราะไม่มีการก่อกำแพงทึบ หน้าต่างใช้ซี่ลูกกรงไม้แทนกำแพงบางส่วน มีการใช้เส้นทางเดินนำสายตาสู่ตัววิหาร และมีการลดระดับทำให้เกิด plaza หน้าบริเวณวิหารขึ้น ภายในวิหารมีภาพเขียนสีเรื่อง พระเวสสันดรชาดก
"สถาปัตยกรรมท้องถิ่น"
ระหว่างทางอาจารย์จิ๋วได้พาแวะดูบ้านเรือนในชุมชนละแวกที่นั่งรถผ่าน ทั้งหมดนี้ถือเป็น สถาปัตยกรรมท้องถิ่น ซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้านเอง บางอาคารมีรูปแบบผสมผสานกับตะวันตก บางหลังผสมผสานระหว่างบ้านเรือนกับอาคารราชการ แต่สิ่งสำคัญคือ ทุกๆหลังจะล้อมรอบด้วยธรรมชาติ มีการสอดแทรกตัวอาคารเข้าไปอยู่ในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเดิม มีภูมิทัศน์แบบไทยเดิม คือ ประกอบด้วยลานบ้านและมีสวนพืชผักสวนครัว
"วัดข่วงกอม"
วัดแห่งนี้เป็นวัดที่มีการบูรณะฟื้นฟูโดยช่างโบราณและช่างออกแบบร่วมสมัย โดยยึดถือตามแบบประเพณีล้านนา เพราะชาวบ้านในบริเวณนี้ยังคงยึดถือประเพณีการอยู่อาศัยแบบดั้งเดิมอยู่
วัดยังมีการใช้โบสถ์ร่วมกับวัดอื่น เวลาฟังธรรมจะใช้ศาลาการเปรียญแทน ตัวศาลาการเปรียญนี้มีโครงสร้างเป็นไม้ ส่วนฐานเป็นปูน กระเบื้องไม้ และกำแพงรอบนอกของวัดเป็นหิน เป็นการประยุกต์แนวคิดใหม่ของคนออกแบบเข้ากับประเพณีเดิม โดยให้ความสำคัญกับแบบเดิมมากกว่า
แต่วัดแห่งนี้ก็ยังมีข้อผิดพลาดในการออกแบบนั่น คือ การสร้างกุฎิพระในทิศทางไม่เป็นมงคล ขัดกับความเชื่อเดิมของชาวบ้านและพระในบริเวณนั้น จึงทำให้กุฎิดังกล่าวร้าง ไม่มีผู้ใช้งาน
ส่วน landscape ของวัดแห่งนี้เป็นแบบประยุกต์ร่วมกับสมัยใหม่เช่นกัน แต่ยังคงมีการคงภูมิทัศน์แบบไทยเดิมไว้ เช่น ต้นไม้โดยรอบ พืชพันธุ์ท้องถิ่น ทุ่งนาและคลองชลประทานบริเวณด้านหลังของวัด
วันที่ 27 กรกฎาคม 2553 รถออกเดินทาง 9.00 น.
สถานีต่อไป "วัดปงสนุก"
วัดปงสนุก แบ่งออกเป็น วัดปงสนุกเหนือและวัดปงสนุกใต้ วัดแห่งนี้มีการบูรณะโดยช่างพื้นเมือง โดยมีหลักฐานการบูรณะสังขรณ์อยู่มาก รวมถึงการปรังปรุงภูมิทัศนให้มีลักษณะแบบล้านนาเดิมอีกด้วย
บริเวณด้านบนของวัดมีเจดีย์แบบล้านนาตั้งอยู่ ด้านข้างเป็นวิหารโปร่ง มีพระพุทธรูปสี่องค์ประดิษฐานอยู่บนแท่นสูง ตรงกลางแท่นมีต้นโพธิ์
โดยวัดนี้มีการรักษาให้มีลักษณะเหมือนเดิมมากที่สุดและการจะรักษาสภาพเดิมไว้ได้นั้นจะต้องมีการศึกษาเพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อไม่ให้บิดเบือนไปจากความจริงและเพื่อศึกษาวิธีการแก้ไขปัญหาของภูมิปัญญาชาวบ้าน
แต่ถ้าหลักฐานดังกล่าวไม่หลงเหลือแล้ว เราสามารถศึกษาได้จากอาคารอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงและตั้งสมมุติฐาน หาข้อมูลมาสนับสนุนเพื่อให้ใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
"วัดศรีรองเมือง"
เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่ (พม่า) สร้างขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อชาวตะวันตกเข้ามาในไทย ก็ได้มีการนำแรงงานชขาวพม่าเข้ามาทำงานด้วย จึงมีการอพยพของกลุ่มเศรษฐีชาวพม่าเข้ามาตั้งรกรากและสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้าที่ในป่าที่ชาวพม่าได้เข้าไปตัดไม้ในป่าเพื่อทำการค้าและก่อสร้าง
ขณะที่ไปเยี่ยมชมวัดนี้ได้อยู่ระหว่างการบูรณะก่อสร้างพอดี จึงเป็นอะไรที่น่าเสียดายเนื่องจากวัดแห่งนี้มีความสวยงามมากไม่แพ้วัดอื่นๆ
ส่วนโถงที่สูงที่สุดเป็นที่ประทับของพระประธาน มีลักษณะเป็นเรือนหมู่ร่วมสมัยคล้ายพระฐาตุดอนเต้า เมื่อชาวพม่าอพยพย้ายไปก็เกิดการทรุดโทรมเนื่องจากไม่มีการดูแลรักษา ต่อมาพระไทยได้เข้ามาอาศัยและทำการบูรณะใหม่
หลังคาของอาคารจะเป็นลักษณะเฉพาะที่ใช้กับอาคารพวกพระราชวัง อาคารสูงศักดิ์หรืออาคารทางศาสนา จะไม่มีการใช้กับที่พักอาศัยทั่วไป และตัวหลังคาจะมีการเล่นระดับยกสูงขึ้นไปเรื่อยๆ
วันที่ 28 กรกฎาคม 2553 รถออกเดินทาง 9.00 น.
สู่เมืองเก่าสุโขทัย
เมืองสุโขทัยอยู่บริเวณที่ราบสูงปานกลาง บริเวณรอบเมืองจะมีคูน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมเมื่อถึงหน้าน้ำหลาก และยังมีการใช้ท่อดินเผาส่งน้ำไปยังที่ต่างๆ
"วัดมหาธาตุ"
เป็นวิหารหลวงของแผ่นดิน มีเจดีย์ที่เป็นบริวารทั้งหมด 8 องค์ มีลักษณะตามแบบสุโขทัยเดิม สมัยที่เมืองสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองนั้น ประเทศไทยยังไม่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว เมื่อกรุงศรีอยุธยารุ่งเรืองจึงมีการกวาดต้อนคนจากเมืองสุโขทัยไปรวมกัน ทำให้เมืองสุโขทัยกลายเป็นเมืองร้างในที่สุด
มีการคาดการณ์ว่าวิหารแห่งนี้เป็นที่เก็บอัฐิของเหล่าเจ้าขุนมูลนาย และวิหารเหล่านี้จะถูกวางตามแนวแกนอย่างเป็นระเบียบ
**เมืองแต่ละเมืองนั้นจะมีวิหาร วัดประจำเมืองเพราะเชื่อว่าภายในนั้นจะมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ เป็นมิ่งขวัญแก่เมืองนั้นๆ
วัดมหาธาตุนี้ถือเป็นวัดหลักที่ใหญ่ที่สุดในเมืองสุโขทัย มีเจ้าขุนมูลนายเป็นผู้อุปถัมภ์เมืองไว้ก่อนที่จะกลายเป็นเมืองร้าง เมืองที่คู่กับสุโขทัยก็คือเมืองศรีสัชนาลัย ถือว่าเป็นเมืองพี่น้องกันเพราะเป็นเมืองที่ลูกของผู้ปกครองเมืองสุโขทัยปกครองอยู่อีกทีหนึ่ง
"วัดพระพายหลวง"
ก่อนสุโขทัยสร้างเมือง แต่เดิมนั้นบริเวณนี้เป็นชุมชนขอมมาก่อน เจดีย์และรูปทรงสถาปัตยกรรมจึงเป็นแบบขอม มีการสร้างขึ้นตามศาสนคติแบบพราหมณ์ต่อมามีการบูรณะจึงเปลี่ยนเป็นแบบพุทธ
เมื่อสุโขทัยรุ่งเรืองและเข้ามาขับไล่ขอมที่เสื่อมอำนาจออกไป สุโขทัยก็ได้บูรณะต่อเติมวัดนี้ให้มีลักษณะแบบสุโขทัยแทน มีการคาดการณ์ว่าตัววิหารที่เชื่อมต่อกับตัวพระปรางค์ทั้งสามนี้ น่าจะใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
|
แบบจำลองวัดพระพายหลวง |
กลุ่มเจดย์ด้านหน้าของวัดทั้งสามอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม จนไม่สามารถศึกษารูปแบบที่แน่ชัดได้ อีกทั้งวัดแห่งนี้ยังผ่านการบูรณะในช่วงยุคสมัยสุโขทัยมาหลายครั้งเช่นกัน
"วัดศรีชุม"
วัดแห่งนี้ไม่มีหลักฐานการสร้างแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด ซึ่งคาดว่าอาจสร้างขึ้นก่อนสมัยสุโขทัยก็เป็นได้ มีนักวิชาการบางท่านได้คาดการณ์ว่าอาจสร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง มีการจดบันทึกบูรณะเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ตัววิหารเดิมด้านหน้าถูกไฟไหม้ทำให้เหลือแต่โครงเสา ส่วนบริเวณหลังคาของวิหารด้านหลังที่เป็นที่ประทับของพระอจนะนั้นหายไป ไม่สามารถสันนิษฐานได้ว่าแต่เดิมมีรูปร่างลักษณะเช่นไร
วันที่ 29 กรกฎาคม 2553 รถออกเดินทาง 9.00 น.
สู่เมืองลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
เมืองลับแล จังหวัดอุตรดิถ์เป็นเมืองเก่า บ้านเรือนมีลักษณะเป็นบ้านสวน มีการปลูกไม้พืช ไม้ผล เช่น ต้นทุเรียน ผักสวนครัวต่างๆ แต่บ้านนั้นจะตั้งอยู่กระจัดกระจายกันไม่เป็นกลุ่มก้อน
"วัดดอนสัก"
เป็นวิหารเก่ามีทรวดทรงงดงาม โครงสร้างและบานประตูเป็นแบบแกะสลักแบบสมัยอยุธยา ภายในวิหารไม่มีการตีฝ้าเพดานปิด ตัวเรือนเป็นไม้ มีฐานเป็นไม้และปูน บริเวณด้านข้างวัดเป็นสวนผลไม้ มีลำห้วยไหลผ่าน เมื่อสมัยสงครามโลกใช้เป็นหลุมหลบภัย แต่ปัจจุบันนั้นพื้นดินทรุดปิดหลุมหลบภัยหมดแล้ว
บริเวณด้านหน้าของวัดเป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่ ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา มีลักษณะเป็นโครงสร้างพาดช่วงกว้าง และมีการเจาะช่องแสงเพื่อใช้แสงธรรมชาติเช่นเดียวกับวัดอื่นๆ มีการตีไม้ปิดฝ้าเพดาน
วันที่ 30 กรกฎาคม 2553 รถออกเดินทาง 9.00 น เดินทางวันสุดท้าย
"วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร"
คาดว่าเป็นวัดศูนย์กลางของเมืองเชลียงหรือเมืองศรีสัชนาลัยเดิม เป็นช่วงที่ขอมเข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทย เป็นเมืองพี่เมืองน้องกับเมืองสุโขทัย ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำยมและครึ่งเมืองนั้นอยู่บนภูเขา
ทางเดินรอบวัดนี้จะแบ่งออกเป็นทางเดินสำหรับคนธรรมดาทั่วไปและทางเดินสำหรับพระ ตัววิหารเป็นศิลาแลงกับไม้ หลังคาทรงล้านนา ส่วนหน้าต่างมีลักษณะเป็นช่องตั้งยาว บริเวณรอบๆคาดว่าแต่ก่อนมีพระพุทธรูปตั้งเรียงรายอยู่โดยรอบ และวัดแห่งนี้ยังมีพระปรางค์ลีลาที่สวยที่สุดประทับอยู่อีกด้วยเช่นกัน
"อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย"
ในปัจจุบันจากการประเมินของกรมศิลปากร นับว่ามีการต่อเติมโบราณสถานจากสภาพเดิมน้อยกว่าที่ใด ยังคงรักษาภูมิทัศน์ของเมืองประวัติศาสตร์ไว้ได้ครบถ้วน
**ข้อมูลจาก Wikipedia
"ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก(เตาทุเรียง)"
ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก (เตาทุเรียง) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2530 มีเตาเผาที่ขุดพบแล้วกว่า 500 เตา ในบริเวณยาวประมาณ 1 กิโลเมตรถือได้ว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรมของ เมืองศรีสัชนาลัย มีการขุดพบ เครื่องสังคโลก ทั้งในสภาพสมบูรณ์และแตกหักเป็นจำนวนมาก จึงมีการเก็บรักษา จัดนิทรรศการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้คนในสมัยปัจจุบันและคนรุ่นหลังสามารถเข้าใจถึงวิวัฒนาการความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น
บริเวณโดยรอบเป็นบ้านเรือนและร้านขายของที่ระลึก มีการจัดการจัดภูมิทัศน์รอบอาคาร มีลักษณะเป็นสวนแบบไทยการตกแต่งสวนแบบลานโล่ง ใช้ลานดิน ทราย มีการปลูกต้นไม้สอดแทรกกับตัวอาคารทำให้เกิดความเป็นธรรมชาติขึ้นรอบๆตัวอาคาร
***ขอขอบคุณอาจารย์จิ๋วที่พาพวกหนูไปหาความรู้นอกสถานที่ หลายๆสิ่งและหลายๆอย่างที่อาจารย์ได้สั่งสอนหนูสัญญาว่าจะนำมาใช้ในชีวิตทั้งปัจจุบัน และอนาคตที่กำลังจะเป็นสถาปนิกนี้ ขอบคุณมากๆค่ะ :)