ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553

Assignment #4 Professional Practice 53


Assignment #4 Professional Practice 53


สัมภาษณ์รุ่นพี่สถาปัตย์ฯ ลาดกระบัง



ข้าพเจ้าก็ได้ติดต่อรุ่นพี่สถาปัตย์ฯ โดยได้รับเกียรติจากรุ่นพี่รุ่นที่ 26 ให้สัมภาษณ์และสอบถามถึงเรื่องต่างๆ เช่น ประวัติการทำงาน และคำแนะนำในการปฏิบัติอาชีพ :)


รุ่นพี่ที่ข้าพเจ้าได้ไปสัมภาษณ์นั้น ชื่อ พี่สุวิทย์ วิเศษสินธุ์ รหัส 26 รุ่นที่ 26 ชื่อภาคคือ "กึ๋ย"

ข้าพเจ้าเดินทางไปยังบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ฝ่าย Shop drawing ประมาณ 10 โมงเช้าแล้วได้เข้าพบเพื่อทำการสัมภาษณ์




หน้าตากรุ้มกริ่มกันมากๆ

ประวัติพี่สุวิทย์

      - เรียนจบเมื่อพ.ศ. 2530 เป็นรุ่นที่ 26 

      - เริ่มทำงานที่บ.อิคิสติกค์ เป็นเวลา 2 ปี ทำหน้าที่ออกแบบอาคารพวกโรงงาน สถานที่ราชการ โดยทำงานด้านออกแบบอย่างเดียว
      - เข้าทำงานบริษัทไทเซอิ เป็นบ.รับเหมาของญี่ปุ่น 3 ปี ทำหน้าที่ดูแล Shop drawing และควบคุมงาน Interior งานที่ร่วมทำคือ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ, แกรนด์ อัมมริน ทาวเวอร์

  

            - เข้าทำงานบ.คริสเตียนแอนด์นีลเซน เป็นบ.ต่างชาติที่คนไทยซื้อต่อ ทำอยู่ประมาณ 4 ปี โดยทำหน้าที่เป็นผู้รับเหมา เนื่องจากรายได้ดีกว่าบ.ก่อน โครงการที่รับผิดชอบ เช่น สนามกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ สระว่ายน้ำที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพวกงานโครงการเล็กๆ เช่น โรงงาน ที่พักอาศัย เป็นต้น

      - ต่อมาย้ายมาบ.ปาล์มเมอร์ แอนด์เทอร์เนอร์ ซึ่งเป็นบ.ด้านการออกแบบ ทำหน้าที่เป็น Cousultant อยู่เป็นเวลา 5 ปี โครงการที่รับผิดชอบ เช่น โรงแรม All season แถวถนนวิทยุ

 


      - หลังจากนั้นในปีพ.ศ.2548 ย้ายมาบ.อิตาเลียนไทยและทำงานอยู่จนถึงในปัจจุบัน ทำหน้าที่เป็นนายช่าง Shop drawing เป็นหลัก


Shop drawing คืออะไร แล้วมีอุปสรรคในการทำงานบ้างหรือไม่??

     พี่สุวิทย์ : หน้าที่หลักๆของนายช่าง Shop drawing คือ ทำหน้าที่ตรวจเช็คแบบที่ทำให้ลูกค้าซึ่งต้องตรงกับที่ลูกค้าสั่งมา จะไม่มีการการแก้แบบเองโดยไม่แจ้งแก่ลูกค้า แต่ก็จะมีอุปสรรคในบางเรื่อง เช่น แบบที่ลูกค้าทำมานั้นไม่สามารถออกแบบได้จริง สร้างจริงไม่ได้ แล้วทางด้านเราก็ต้องหาทางแก้ อย่างลูกค้าออกแบบอาคารมา แล้วมีการยื่นพื้นออกไปโดยไม่มีคานยาวมาก ซึ่งในความเป็นจริงนั้นทำไม่ได้ หรือบางทีก็ต้องการระดับเพดานในห้องน้ำแค่ 2.80 เมตร แต่เมื่อทำงานระบบแล้วพื้นที่ไม่พอ เราก็ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจและหาทางแก้แบบ
             แต่ก็มีบางทีที่ก่อสร้างจริงไปแล้วมาพบทีหลังว่า แบบก่อสร้างตัวจริงไม่ละเอียด เนื่องจากฝ่ายตรวจเช็คแบบทำงานไม่ละเอียดรอบคอบ ก็มีการฟ้องร้องขึ้นศาล บางครั้งลูกค้าไม่พอใจนายช่างก็มีขอเปลี่ยนนายช่างใหม่ แล้วก็ปัญหาจิปาถะอื่นๆอีกมากมาย เช่น เรื่องเงิน เป็นต้น


ข้อคิดในการทำงานที่อยากฝากถึงรุ่นน้องสถาปนิกที่กำลังจะจบและกำลังเรียนอยู่หลายๆคน

     พี่สุวิทย์ : ก็อยากให้มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่กันมากๆ ต้องตรงต่อเวลา ซื่อสัตย์ อย่าใช้อารมณ์ในการทำงาน แล้วก็ควรจะมองโลกในแง่ดี ที่สำคัญที่สุดคือ อย่าลืมพักผ่อนกันให้มากๆ


ข้อแนะนำเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพแก่น้องๆ

     พี่สุวิทย์ : ก็เหมือนกับในหนังสือนั่นแหละ เราต้องมีความรับผิดชอบในสิ่งที่เราทำอยู่ อะไรที่ไม่เหมาะสมไม่ถูกต้องเราก็ต้องท้วงติง อย่าปล่อยผ่านไป เพราะบางทีมุมมองของลูกค้ามันไม่กว้างเท่ากับสถาปนิก เพราะบางครั้งลูกค้าก็มองในด้านเชิงธุรกิจเกินไป ไม่มองในเรื่องการใช้งานจริง เรื่องภายนอกต่างๆ หรือกระทั่งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม
อย่างเช่น บางทีลูกค้าจะก่อสร้างคอนโดมิเนียม ก็อยากให้ออกแบบห้องที่มีพื้นที่ต่ำสุดตามกฎหมายกำหนด ซึ่งจริงๆแล้วพอเราเข้าไปใช้งานจริงๆ มันอยู่ได้ลำบากเพราะมันแคบไป หรืออย่างพวกทางหนีไฟที่ต้องการตามกฎหมายพอดี มันก็ทำไม่ได้เพราะเราต้องคิดถึงเรื่องพื้นที่ของราวบันได การเว้นช่องระหว่างบันไดด้วย


สิ่งที่อยากฝากถึงน้องๆ

    พี่สุวิทย์ : จบมาเราก็อย่าไปเลือกงานมาก ควรจะมีเป้าหมายว่าอยากจะทำงานอะไร เราอยากไปทางด้านออกแบบหรือรับเหมาก่อสร้าง อย่างพี่เองก็ทำด้านรับเหมามานานจนลืมด้านออกแบบแล้ว เราควรจะเลือกว่าเราชอบด้านไหนมากที่สุดแล้วทำดู เมื่อทำได้ซักพักจนเราคิดว่าเราได้ประสบการณ์พอแล้ว เราก็ลองเปลี่ยนดูมาทำด้านอื่นบ้าง เราจะได้รู้ว่ามันเป็นยังไง อีกทั้งเราจะได้เจอคนอื่นๆอีกมากมาย ได้ทำงานจริงหลายๆอย่าง ซึ่งดีกว่าเราทำอยู่ด้านเดียว คิดเสียว่าออกมาดูโลกภายนอกบ้าง ดีกว่านั่งจับเจ่าอยู่แต่ในออฟฟิศ
           ส่วนเรื่องปริญญานั้น สมัยนี้แค่ปริญญาตรีก็คงไม่พอ เพราะจำนวนเด็กจบใหม่เยอะมาก การแข่งขันก็สูงตาม ถ้าเราจบปริญญาสูง โอกาสเราที่จะทำอะไรได้มากกว่าคนอื่นก็มีมาก แถมยังทำให้เราสามารถทำงานได้หลากหลายมากขึ้นอีกด้วย

           








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น